วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

จุดเริ่มต้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง



ผลจากการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงมีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
สำหรับผลของการพัฒนาในด้านบวกนั้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัย หรือการขยายปริมาณและกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อย
แต่ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดผลลบติดตามมาด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐเข้าไปในชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตกสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่มสูญหายไป
สิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้องการต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฎการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี


วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรู้คู่คุณธรรม ^^

         เมื่อความรู้ยอดเยี่ยมสูงเทียมเมฆ   แต่คุณธรรมต่ำเฉกยอดหญ้านั่น
อาจเสกสร้างมิจฉาสารพัน                      ด้วยจิตอันไร้อายในโลกา             
แม้คุณธรรมสูงเยี่ยมถึงเทียมเมฆ           แต่ความรู้ต่ำเฉกเพียงยอดหญ้า
ยอมเป็นเหยื่อทรชนจนอุรา                     ด้วยปัญญาอ่อนด้อยน่าน้อยใจ             
หากความรู้สูงล้ำคุณธรรมเลิศ                 แสนประเสริฐกอปรกิจวินิจฉัย
จะพัฒนาประชาราษฎร์ทั้งชาติไทย          ต้องฝึกให้ความรู้คู่คุณธรรม
              
                                                           (อำไพ สุจริตกุล ประพันธ์)

สิ่งเล็กๆที่เราสามารถทำได้ ^^


การดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรมและจริยธรรม

         การอยู่ร่วมกันในสังคม นอกจากสมาชิกจะปฏิบัติตามกฎระเบียบและสิทธิหน้าที่ของตนเองแล้ว สมาชิกในสังคมควรดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรมและจริยธรรมด้วย ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละคนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น อย่างมีความสุข สังคมก็มีความสงบสุขและเจริญก้าวหน้าไปด้วย คุณธรรมจริยธรรม คือ สิ่งที่เป็นคุณงามความดีที่บุคคลควรประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุขความเจริญของตนเองและสังคมส่วนรวม บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองดีควรยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ คุณธรรมและจริยธรรมในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม ได้แก่ การเคารพต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือผู้มีพระคุณ ซึ่งเป็นการ แสดงออกด้วยการทำความเคารพด้วยการกราบ การไหว้ การแสดงการทักทาย เคารพต่อความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล พร้อมทั้ง วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล โดยการตั้งใจฟัง เคารพกฎหมายและกฎระเบียบของสังคม ไม่กระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือข้อบังคับของสังคม เคารพในสิทธิของผู้อื่นและ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยเหตุผล เคารพในหน้าที่ของตนเองโดยปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดี ไม่ก้าวก่ายหน้าที่การงานของผู้อื่น เคารพในมติของเสียงข้างมาก และรับฟังเสียงข้างน้อย เคารพและยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี ตั้งใจและเต็มใจร่วมกันทำงานจนประสบความสำเร็จ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อดทนและอดกลั้น รวมทั้งมีความเพียรพยายามในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการประนีประนอม เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีวินัยในตนเอง และปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม ทุกคนมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหา ร่วมกันรับผิดชอบ ใช้ปัญญาและเหตุผลในการแก้ไขปัญหา นอกจากการดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว สมาชิกในสังคมควรต้องยกย่อง ชื่นชมบุคคลที่ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของชุมชนด้วย เช่น ผู้มีความกตัญญู ผู้ที่มีความเพียรพยายามอย่างสูงจนประสบความสำเร็จ ผู้ที่มีความประพฤติดีงาม ผู้ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ ทั้งนี้เพื่อที่จะส่งเสริมให้มีคนดีในสังคมเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้คนมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

คำพ่อสอน^^


” . . . ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็ก เพราะว่าต่อไปถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใด ๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็งในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ นั้นได้ ความเข้มแข็งในใจนั้น หมายความว่า ไม่ท้อถอย และไม่เกิดอารมณ์มาทำให้โกรธ อารมณ์นั้นก็คือ ความโกรธ ความฉุนเฉียว ความน้อยใจ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คิดไม่ออก . . . ”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต
วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๘


http://happyhappiness.monkiezgrove.com/2010/01/09/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99/